อสังหาริมทรัพย์เป็นสินทรัพย์หลักที่กองทุนรวมและทรัสต์อสังหาริมทรัพย์เข้าลงทุนเพื่อนำมาปล่อยเช่าหารายได้ ซึ่งอสังหาริมทรัพย์มีจุดที่แตกต่างกับสินทรัพย์ลงทุนอื่นจากการเป็นสินทรัพย์ที่มีตัวตนจับต้องได้ (physical asset) ซึ่งการใช้ประโยชน์จะมีการเสื่อมสภาพตามการใช้งาน ทำให้เมื่ออสังหาริมทรัพย์มีอายุการใช้งานผ่านไประยะหนึ่ง จะมีความจำในการปรับปรุงทรัพย์สินใหญ่ (Major Renovation) เพื่อให้อสังหาริมทรัพย์อยู่ในสภาพที่ดี ทั้งนี้การปรับปรุงก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ดังนี้

ข้อดี

  1. การปรับปรุงทรัพย์สินใหญ่ (Major Renovation) ช่วยให้ทรัพย์สินอยู่ในสภาพที่เหมาะสม และสามารถแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดได้
  2. ภายหลังการปรับปรุง กำไรจากการปล่อยเช่ามีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งกองมีแนวโน้มที่จะจ่ายประโยชน์ตอบแทนเงินปันผลสูงขึ้น
  3. แนวโน้มกำไรในระยะยาวที่ดีขึ้นหลังปรับปรุง จะช่วยให้มูลค่าประเมินอสังหาริมทรัพย์ตามการประเมินด้วยวิธีรายได้ (Income Approach) สูงขึ้นซึ่งสะท้อนศักยภาพในการหารายได้ของทรัพย์สิน และทำให้มีมูลค่าทางบัญชี (NAV) ในระดับที่เหมาะสมขึ้น

ข้อเสีย

  1. การปรับปรุงทรัพย์สินใหญ่ (Major Renovation) ต้องใช้งบประมาณที่สูงกว่าการซ่อมแซมปกติ ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในช่วงปรับปรุงที่สูง ทั้งนี้โดยปกติเงินทุนที่ใช้อาจมาจากเงินหมุนเวียนของกองหรือเงินกู้ยืม
  2. ในการปรับปรุงทรัพย์สินใหญ่อาจทำให้ต้องปิดพื้นที่และทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์และขาดรายได้ในช่วงปรับปรุง ทั้งนี้ผู้จัดการกองสามารถบริหารแผนปรับปรุงเพื่อลดผลกระทบในการหารายได้ เช่น ปิดปรับปรุงทีละเฟสปรับปรุงในช่วง low season กรณีเป็นโรงแรมหรือพื้นที่ค้าปลีก หรือปิดปรับปรุงในช่วงโควิด-19 ซึ่งเป็นช่วงที่ไม่สามารถหารายได้
  3. ในช่วงที่มีการปรับปรุงและช่วงแรกหลังปรับปรุงเสร็จ ระดับกำไรจากการปล่อยเช่าอาจยังไม่สูงเท่ากับก่อนการปรับปรุง ซึ่งทำให้กองมีแนวโน้มที่จะจ่ายประโยชน์ตอบแทนเงินปันผลลดลง

ทั้งนี้รอบการปรับปรุงทรัพย์สินใหญ่ (Major Renovation) จะแตกต่างกันตามการดูแลรักษา (Maintenance) ของผู้บริหารโครงการ (Property Manager) รวมถึงประเภทของทรัพย์สิน โดยอสังหาริมทรัพย์ประเภทโรงแรมและพื้นที่ค้าปลีก มีแนวโน้มที่จะต้องมีการปรับปรุงบ่อยกว่าอสังหาริมทรัพย์ประเภทอื่น เพื่อให้มีสภาพที่ดีและดึงดูดให้มี traffic ของผู้มาใช้บริการจำนวนมาก โดยในตลาดก็มีหลายๆ กองอสังหาฯ ที่มีการปรับปรุง เช่น

  1. CTARAFปิดปรับปรุงโรงแรมและ rebrand จาก Centara Grand Beach Resort Samui Hotel เป็นCentara Reserve Samui

  2. QHOP ปิดปรับปรุงโรงแรมบูเลอวาร์ด กรุงเทพ ซึ่งอาคารมีอายุการใช้งานมากกว่า 30 ปี (เดิมเป็นโรงแรม   อมารี บูเลอวาร์ด)

  3. CPNREIT ปิดปรับปรุงเซ็นทรัล ปิ่นเกล้า และโรงแรม Hilton Pattaya

  4. QHHRปิดปรับปรุงโรงแรม Centre Point สุขุมวิท 10 และ ประตูน้ำ

  5. Ally ปรับปรุงพื้นที่ส่วนกลางศูนย์การค้าเดอะ คริสตัล เอสบี ราชพฤกษ์เดอะ ไพร์ม หัวลำโพงศูนย์การค้าคริสตัล ดีไซน์ เซ็นเตอร์ เป็นต้น

  6. FUTUREPFปิดปรับปรุงพื้นที่ร้านค้าบางส่วนศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต

  7. LPFปิดปรับปรุง โลตัส เอ็กซ์ตร้า ภูเก็ตโลตัส มหาชัย และโลตัส ศรีนครินทร์ เป็นต้น

ตัวอย่างการปรับปรุงทรัพย์สินใหญ่ (Major Renovation) 

กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่า ควอลิตี้ เฮ้าส์ โฮเทล แอนด์ เรซิเดนซ์  (กอง QHHR)

โครงการ Centre Point สุขุมวิท 10 

  • ปรับปรุงห้องพัก

  • ปรับปรุงพื้นที่ส่วนกลาง (Lobby / ห้องอาหาร)

            ที่มา : รายงานประจำปี 2565 ของกอง QHHR

อนึ่งกรณีที่กองอสังหาฯ มีอสังหาริมทรัพย์ลงทุนหลายโครงการ และไม่ได้มีการดำเนินการปรับปรุงพร้อมกันจะช่วยให้มีผลกระทบต่อกำไรและประโยชน์ตอบแทนเงินปันผลน้อยกว่า เนื่องจากโครงการอื่นยังสามารถหาประโยชน์ได้ตามปกติ